โรงเรียนบ้านทามจาน

ตำบลหนองบัวโคก อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 3


ประวัติโรงเรียน

ประวัติความเป็นมาของสถานศึกษา

โรงเรียนบ้านทามจานตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9  เดือนกรกฎาคม  พ.ศ. 2483  นายหา  บุญมาชัย อดีตนายอำเภอจัตุรัสเป็นผู้จัดตั้ง  เหตุที่เปลี่ยนแปลงมาตามลำดับ  คือ  เดิมโรงเรียนหลังนี้ สร้างขึ้นที่หมู่บ้านทามจาน เป็นโรงเรียนหลังเล็ก ๆ  หลังคามุงหญ้าแฝก  และตั้งชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนบ้านทามจาน”

           ต่อมาอาคารเรียนแห่งเดิมก็เริ่มชำรุดทรุดโทรม  หลังคารั่ว  กระดานฝาชำรุดผุพัง  ทำให้การจัดการเรียนการสอนขณะนั้นมีความลำบาก  เมื่อ พ.ศ. 2500  คณะครูพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านทามจาน  บ้านหนองพง และคุ้มบ้านหลุมปูน ก็ได้ช่วยกันย้ายโรงเรียนมาตั้งขึ้นใหม่ที่คุ้มบ้านหลุมปูนซึ่งอยู่ระหว่างกลางระหว่างเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 5 บ้านทามจาน และหมู่ที่ 6 บ้านหนองพง  เมื่อสร้างโรงเรียนเสร็จแล้ว  ก็ยังมีสภาพที่โรงเรียนขาดกระดานฝา แต่ต้องเปิดการเรียนการสอนด้วยความมีอุปสรรคเรื่อยมา  เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณสร้างอาคารเรียนให้เรียบร้อย

           ต่อมาในปี พ.ศ. 2510  เกิดวาตภัย ได้พัดเอาหลังคาโรงเรียนหลุดออกหมด  คณะครูพร้อมด้วยกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านก็ได้ช่วยกันซ่อมแซมโรงเรียนขึ้นมาใหม่เพื่อให้ใช้ได้ชั่วคราว พอให้นักเรียนได้เล่าเรียนไปพลาง ๆ ก่อน และได้ทำหนังสือประสานขอความช่วยเหลือจากทางราชการ เพื่อของบประมาณมาช่วยซ่อมแซมอาคารเรียน ในปี พ.ศ. 2515  ได้รับงบประมาณ เป็นเงิน  50,000  บาท  และต่อมาโรงเรียนดำรงอยู่ได้ด้วยเงินงบประมาณของกระทรวงมหาดไทย และจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรประมวลการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4

           พ.ศ. 2524  ได้ขยายชั้นเรียนออกไปถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และปี พ.ศ. 2525 ได้ขยายชั้นเรียนไปจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  และได้รับการจัดสรรงบประมาณในปีนี้เองเพื่อจัดสร้างอาคารเรียนถาวรขึ้น 1  หลัง คือ  อาคารเรียนแบบ ศก 04  มีจำนวน  3  ห้องเรียน ใต้ถุนสูง  จำนวนครูที่ทำการสอนในปีนั้นมีครูชาย  3  คน และครูหญิง  3  คน  รวมครูทั้งหมด  6  คน

           พ.ศ. 2530  โรงเรียนได้จัดหาเงินต่อไฟฟ้าเข้าโรงเรียน โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ โดยได้จากการรับบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาบ้าง คณะครูและชุมชน รวมเป็นเงิน  8,000  บาท โรงเรียนจึงมีกระแสไฟฟ้าใช้มาจนถึงปัจจุบัน

           พ.ศ. 2533  ได้เปิดสอนชั้นเด็กเล็กขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของชุมชน  มีเด็กเล็กทั้งหมด จำนวน 21  คน  และปีการศึกษา 2534  ทางราชการได้อนุญาตให้เปิดสอนชั้นเด็กเล็กอย่างเป็นทางการ และมีจำนวนเด็กเล็กถึง  33  คน

           พ.ศ. 2535  ส.ส. ก่ำชุง  ประภากรแก้วรัตน์  และ ส.ส. วุฒิชัย  สงวนวงศ์ชัย ได้บริจาควัสดุมาสร้างถังน้ำประปาโรงเรียน  โดยมีชาวบ้านเป็นผู้เสียสละแรงกายจัดสร้าง  และในปีเดียวกัน กรมทรัพยากรธรณีได้มาเจาะน้ำบาดาลให้โรงเรียนด้วย  แต่ปัจจุบันชาวบ้านได้ขออนุญาตสูบน้ำประปาหมู่บ้านในพื้นที่โรงเรียน บริเวณจุดข้างบ้านพักครู

           พ.ศ. 2536  โรงเรียนได้รับการจัดสรรสร้างส้วมแบบ สปช.601/26  จำนวน  1  หลัง และในปีนี้กรมทรัพยากรธรณีได้มาสร้างถังน้ำบาลดาล หมู่ที่ 5  ในที่โรงเรียนด้วย

           พ.ศ. 2537  กรมทรัพยากรธรณี ได้มาสร้างถังน้ำประปาหมู่บ้านที่ข้างบ้านพักครู  เพื่อส่งไปใช้ในหมู่บ้านคุ้มหลุมปูน  และในปีนี้โรงเรียนได้รับการจัดสรรงบประมาณต่อเติมอาคารเรียนชั้นล่างของอาคารแบบ ศก 04  จำนวน  2  ห้องเรียน

           พ.ศ. 2542  ได้จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 (4 ปี)  จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  มีครูสายผู้สอน  จำนวน 6  คน  สายผู้บริหาร  1  คน และนักการภารโรง  จำนวน 1  คน และในปีนี้เองโรงเรียนได้จัดทำธรรมนูญโรงเรียนขึ้น เพื่อเป็นแผนแม่บทในการบริหารกิจการโรงเรียน วางแนวทางในการพัฒนาโรงเรียน ในระยะ 3  ปีการศึกษา

           พ.ศ. 2543  มีนักเรียนทั้งสิ้น จำนวน  68  คน  ครูทั้งหมด 7  คน  นักการภารโรง  1  คน  นายถนอม  พันธุ์เลิศ  ดำรงตำแหน่ง ครูใหญ่  โรงเรียนได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) แก่นักเรียนที่ขาดแคลน สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ให้ได้รับประทานอาหารและดื่มนมทุกวัน

           พ.ศ. 2544  โรงเรียนร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียนและผู้เกี่ยวข้องจัดทำผ้าป่าสามัคคีเพื่อการศึกษา เพื่อระดมจัดหาทุน งบประมาณ โดยมีศิษย์เก่าทั้งในและที่ไปทำงานต่างประเทศร่วมดำเนินการ ได้งบประมาณมาจัดพัฒนาปรับปรุงโรงเรียนด้านต่าง ๆ  อาทิเช่น  การปรับปรุงสนามฟุตบอล  จัดทำเสาประตูฟุตบอลด้วยเหล็กได้มาตรฐานขึ้น  ปรับปรุงถนนภายในด้วยหินลูกรัง  จัดสร้างภูมิทัศน์ จัดสวนหย่อม  ติดป้ายคำขวัญ  ปลูกไม้ดอกไม้ประดับให้สวยงาม และจัดสร้างสนามตะกร้อด้วยการเทคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นใหม่

           พ.ศ. 2545  ได้รับบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา  จำนวน  1  เครื่อง และเครื่องถ่ายเอกสาร จำนวน  1  เครื่อง และครูคณะได้บริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนอีก 1  เครื่อง  และในปีนี้ได้จัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์เบื้องต้นสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6

           พ.ศ. 2546  ได้รับบริจาคเครื่องขยายเสียง  จำนวน  1  เครื่อง   และคณะครูได้มอบหมายให้นายนิคม  อยู่ภักดี  ซึ่งดำรงตำแหน่ง ครูผู้สอนจัดทำลำโพงขึ้น จำนวน 2  ตัว เพื่อใช้ในโรงเรียน

           พ.ศ. 2547  โรงเรียนได้พัฒนาสภาพห้องเรียนให้เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนมากขึ้นได้ปูกระเบื้องห้องสำนักงานโรงเรียน และห้องเรียนอนุบาล ติดเหล็กดัดห้องสำนักงานโรงเรียน

           พ.ศ. 2548  โรงเรียนได้ซ่อมแซมการเดินสายไฟฟ้าในโรงเรียน เปลี่ยนสายเมน และติดตั้งเบรกเกอร์ และติดตั้งหลอดไฟฟ้า และพัดลมในห้องเรียน และห้องเรียนพิเศษให้เหมาะสมมากขึ้นและในวันที่ 13,14,17  เดือนมกราคม พ.ศ. 2548  โรงเรียนได้รับการประเมินคุณภาพสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)  โดยผู้ประเมินภายนอกสังกัดบริษัท เพชรเกษมการประเมิน  ผลการประเมินด้านผู้บริหารมีคุณภาพระดับดี  จำนวน 3  มาตรฐานและระดับพอใช้ จำนวน  2  มาตรฐาน ด้านครู มีคุณภาพระดับพอใช้  2  มาตรฐาน และด้านผู้เรียนระดับประถมศึกษา มีคุณภาพดี  จำนวน  5  มาตรฐาน  และพอใช้  จำนวน  2  มาตรฐาน

           พ.ศ. 2549  โรงเรียนได้รับจัดสรรการติดตั้งจานดาวเทียมเพื่อการศึกษาระบบ IP-Star เพื่อใช้งานด้านอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์  1  เลขหมาย คือ 044-870155  เพื่อใช้ประโยชน์ในการบริหารข้อมูลสารสนเทศและด้านการเรียนการสอน

           พ.ศ. 2550 ได้รับบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการเรียนการสอน จำนวน 4 เครื่อง ตู้เย็น 1หลัง  และโทรทัศน์  1  เครื่อง  จากนายทองดี-นางหนูกาล  ภูมิศรีรัตนชัย  ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน  โรงเรียนติดตั้งจานดาวธรรม 1  ชุดพร้อมเดินทางไปยังห้องเรียนต่าง ๆ ที่รับด้วยโทรทัศน์ประจำห้องสามารถถ่ายทอดรายการการเรียนทางไกลจากรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาจากพระราชวังไกลกังวลได้ทุกชั้นเรียน

           ในปี พ.ศ. 2551  โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากค่ายอาสาบริษัททานตะวัน จัดทาสีอาคารเรียน    แบบ ป1 ซ. และจัดกิจกรรมปลูกข้าวโพด ประสานใจ ถวายความดีแด่ในหลวง โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ไพโอเนีย (ไฮเบรด) ประเทศไทยจำกัด นอกจากนั้นได้ปรับเนื้อที่โรงเรียนเป็นแปลงนาสาธิต โดยได้ปลูกข้าวนาปี นำผลผลิตข้าวใช้ในโครงการอาหารกลางวันนักเรี

            ในปี พ.ศ. 2552  โรงเรียนได้จัดทำผ้าป่าสามัคคี เพื่อพัฒนาโรงเรียน ได้งบประมาณ จำนวน 290,000 บาท โดยจัดสร้างรั้วโรงเรียน ซ่อมแซมอาคารเรียนและจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อการเรียนการสอน ในปีนี้ โรงเรียนได้รับจัดสรรงบไทยเข้มแข็ง โดยได้ต่อเติม ใต้ถุนอาคารเรียนแบบ ศก.04 เป็นห้องสมุด และปรับปรุงห้องส้วม แบบ สปช.201/26  และในวันที่ 14 เมษายน 2553 โรงเรียนได้จัดทำผ้าป่าการศึกษาอีกครั้ง ได้งบประมาณ จำนวน 50,000 บาท ได้จัดทำป้ายชื่อโรงเรียน บริเวณทางเข้าโรงเรียน จัดทำอ่างล้างหน้า แปรงฟัน สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล  จำนวน 1   ที่  นอกจากนั้นได้ติดตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ต แบบไร้สาย (Wireless) เพื่อบริการครูและนักเรียน

              ในปี พ.ศ. 2553 ต่อเติมอาคารเรียน ศก๐4 จำนวน 1 ห้อง เป็นห้องสมุดโรงเรียน พร้อมติดเครื่องปรับอากาศ มูลค่าประมาณ 150,000 บาท และปรับปรุงห้องน้ำห้องส้วม ปูกระเบื้อง เปลี่ยนเครื่องสุขภัณฑ์ให้มีสภาพดี สวยงาม ใช้งานสะดวก มูลค่า 50,000 บาท

               ในปี พ.ศ.2558 ปรับปรุงห้องน้ำห้องส้วม เปลี่ยนเครื่องสุขภัณฑ์ให้มีสภาพดี สวยงาม ใช้งานสะดวก ปูกระเบื้อง ทำห้องน้ำ ห้องอาบน้ำของชั้นอนุบาล มูลค่า 43,000 บาท และปรับปรุงห้องเรียน อาคารเรียนแบบ ศก04 ก ด้วยงบประมาณ มูลค่า 100,000 บาท

                ในปี พ.ศ.2559 ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียนแบบ ศก04 ก ด้วยงบประมาณ มูลค่า 125,000 บาท

                ปัจจุบันโรงเรียนบ้านทามจาน มี ดร.วัฒนากร  กล้ารอด เป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา และจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เปิดทำการสอน ระดับชั้นอนุบาล1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  มีนักเรียนทั้งสิ้นจำนวน  34 คน  มีห้องเรียนจำนวน  7  ห้องเรียน  ผู้บริหาร  1  คน  ครูผู้สอน  3  คน  พนักงานราชการ(สายผู้สอน) 1 คน  พนักงานบริการ 1 คน   เจ้าหน้าที่ธุรการ  1  คน  


ผู้บริหารสถานศึกษา